ช่วงนี้ น้ำประปา กร่อย รับมืออย่างไร? ดื่มได้หรือไม่?

Last updated: 15 May 2024  |  3992 Views  | 

ช่วงนี้ น้ำประปา กร่อย รับมืออย่างไร? ดื่มได้หรือไม่?

เมื่อหน้าแล้งมาเยือน น้ำประปาก็มักจะมีปัญหา ไม่ใช่ว่าน้ำประปาไม่สะอาด แต่น้ำประปามีรสชาติไม่เปลี่ยนไป คือรสชาติกร่อย เรามาอ่านสาเหตุของการกร่อย และคำถามต่างๆ ได้ในบทความนี้เลยค่ะ

สาเหตุของน้ำประปากร่อย

เมื่อหน้าแล้งมาถึง (ประมาณเดือน มกราคม - เมษายน) ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือในเขื่อนต่างๆ ซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำประปาในกรุงเทพของเราก็มีระดับที่ลดต่ำลง ทำให้เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้น ของน้ำทะเล น้ำทะเลจึงหนุนขึ้นมาปะปนในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เมื่อนำน้ำนี้ไปบำบัดแล้ว ก็ยังคงหลงเหลือ รสชาติความกร่อยๆ เค็มๆอยู่

ทำไมการประปา ถึงกรองเอาความเค็มออกไปไม่ได้

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ประเทศไทยมีแหล่งน้ำจืดอยู่มาก และที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ถึงขนาดว่าต้องนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด เพราะฉะนั้น การประปาของเรา จึงใช้วิธีการตกตะกอน การกรองให้น้ำใสสะอาด ไร้สี ไร้รส ไร้กลิ่น และเติมคลอรีนลงในน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อโรคออกไป ทำให้ได้น้ำประปาที่ใสสะอาด ตรงตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ข้อดีคือ ประชาชนคนไทย จึงมีน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย และราคาถูกมากใช้กัน

 ในประเทศที่ต้องเอาน้ำเค็ม มาบำบัดให้เป็นน้ำจืด เช่น ประเทศสิงคโปร จำเป็นต้องมีระบบกรองน้ำเค็มออก ทำให้ค่าน้ำประปาสูงถึง 53 บาท ต่อ ยูนิต ในขณะที่บ้านเรา จ่ายค่าน้ำประปาเพียงแค่ 10 บาทต่อยูนิต

ลองคิดเล่นๆนะคะ ถ้าตอนนี้ ค่าน้ำที่บ้านคุณอยู่ที่ 1,000 บาท ต่อ เดือน หากต้องการให้การประปาผลิตน้ำโดยใช้ระบบแบบเดียวกับที่สิงคโปร ค่าน้ำของคุณจะอยู่ที่ 5,300 บาทเลยทีเดียว 

น้ำกร่อยตลอดทั้งวัน ทั้งคืนหรือไม่ หลีกเลี่ยงน้ำกร่อยยังไง?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำประปา จะกร่อยเป็นช่วงๆ ไม่ได้กร่อยตลอดเวลา กร่อยทั้งวันทั้งคืน 

จากกราฟ ทำให้ทราบว่า ในแต่ละวัน จะมีช่วงที่น้ำเค็ม และน้ำไม่เค็ม รวมๆกันอยู่ ส่วนของกราฟสีน้ำเงินคือน้ำไม่เค็ม ส่วนกราฟสีแดงคือ น้ำเริ่มเค็ม

เมื่อน้ำเค็มไหลเข้ามาใน แท็งค์พักน้ำของแต่ละบ้านแล้ว หากไม่มีการใช้น้ำหมุนเวียน น้ำเค็มก็จะค้างอยู่ในบ้านเรา จนกว่าจะมีน้ำจืดไหลเข้ามาปะปน

ผู้อาศัยที่พักอยู่ในคอนโด มักจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบนี้ เนื่องจากในคอนโด จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนของน้ำเยอะมาก ทำให้มีปริมาณน้ำจืด ไหลเข้ามาในระบบของคอนโดตลอดเวลา แต่สำหรับบ้านเดี่ยวที่มี Tank พักน้ำ หากมีน้ำกร่อยไหลเข้ามาจนเต็มแท็งค์ เราจะรู้สึกถึงความกร่อยได้ทันที

คำแนะนำในการปฏิบัติเมื่อน้ำเค็ม (สำหรับบ้านเดี่ยว/ทาวเฮ้าส์ ที่มีแท็งพักน้ำในบ้าน)

  • ปิดน้ำ เข้าแท็งค์พักน้ำ ตั้งแต่ช่วง เที่ยง ถึง ประมาณช่วง หกโมงเย็นถึง2ทุ่ม ช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่น้ำประปาเค็มที่สุด
  • เปิดน้ำ เข้าแท็งค์พักน้ำ ช่วงกลางคืน จะทำให้ได้น้ำที่จืดที่สุด
  • น้ำที่ใช้นอกบ้าน เช่น น้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ ควรใช้น้ำประปาโดยตรง ไม่ต้องผ่านแท็งค์เก็บน้ำ จะทำให้ไม่เปลืองน้ำในแท็งค์พักน้ำ

 

ควรติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มแบบ Reverse Osmosis หรือ RO เพื่อใช้ดื่มหรือไม่?

อย่าเพิ่งติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ที่บอกว่ากรองน้ำเค็มได้ หากท่านยังอ่านบทความนี้ไม่จบ

การกรองระบบ RO สามารถกรองความเค็มออกจากน้ำได้จริง แต่ก็จะกรองทุกสิ่งอย่างออกจากในน้ำด้วย ทำให้น้ำนั้น เป็นน้ำที่เรียกว่า Demineralized Water หรือ น้ำไร้แร่ธาตุ คือ น้ำที่ไม่มีแร่ธาตุอะไรหลงเหลืออยู่เลย และผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ น้ำดื่มจะเป็นกรดซึ่งไม่ควรดื่มในระยะยาว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีงานวิจัย ชื่อว่า HEALTH RISKS FROM DRINKING DEMINERALISED WATER งานวิจัยกล่าวว่า หากคุณดื่มน้ำที่ไร้แร่ธาตุตลอดเวลา จะทำให้ร่างกายเกิดปัญหาต่างๆ เช่น

  • ทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุที่สำคัญ และเมื่อนำ น้ำไร้แร่ธาตุไปทำกับข้าว ก็อาจจะทำให้สูญเสียสารอาหารได้มากกว่า 60%
  • ทำให้เสียสมดุลแร่ธาตุของร่างกาย ทำให้ระบบเลือด และหัวใจทำงานผิดปกติ
  • ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษจากโลหะหนักได้ง่ายขึ้น เพราะน้ำที่ไร้แร่ธาตุ ง่ายต่อการกัดกร่อนผิวภาชนะต่างๆที่สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำ,แก้ว,พลาสติก,โลหะต่างๆ
  • แบคทีเรียต่างๆ จะก่อตัวขึ้นได้ง่ายในสภาวะที่ไร้แร่ธาตุ
  • การดื่มน้ำไร้แร่ธาตุนานๆ มีโอกาสทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนสูง
  • มีโอกาสเป็น โรค Neurodegenerative diseases สูงขึ้น (โรคที่เกิดการการเสื่อมของเซลล์ประสาท)

 

อ่านบทความเต็มได้ที่

https://www.who.int/water_sanitation_health/dwq/nutrientschap12.pdf

น้ำประปากร่อยๆแบบนี้ ดื่มได้หรือไม่?

การประปาเคยแจ้งหลายครั้งแล้วว่า น้ำกร่อย ดื่มได้ไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น คนเราต้องการโซเดียมประมาณ 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน ในสภาวะน้ำกร่อย จะมีโซเดียมปนอยู่แค่ประมาณ 100-150 มิลลิกรัม ต่อลิตร หมายความว่า หากเราดื่มน้ำวันละ 3 ลิตร ในสภาวะกร่อยๆ เราก็จะได้รับโซเดียมอยู่ที่ประมาณ 400 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับปริมาณ น้ำปลา, ผงปรุงรส ในอาหารที่เราทานทุกๆวัน ยกตัวอย่าง เช่น ไส้กรอง 1 อัน มีปริมาณโซเดียม 1,000 มก. , ขนม 1 ถุง มีปริมาณโซเดียม 500 มก. , เกลือ 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 2,000 มก.

ถ้าน้ำเค็มมาก ทานไม่ได้เลย ช่วงนี้ทำอย่างไร?

หากคุณมีเครื่องกรองน้ำอยู่แล้ว ให้ลองปรับการเปิด-ปิดน้ำ เข้า แท็งค์พักน้ำดู และลองสอบถามถึงวิธีการแก้ไขเบื้องต้นกับผู้จำหน่ายเครื่องกรองน้ำของท่าน แต่หากว่าท่านไม่สามารถรับมือกับความเค็มตอนนี้ได้เลย แนะนำให้หาซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไปก่อนค่ะ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องกรองใหม่นะคะ

 

 

อ้างอิง

https://www.beartai.com/news/sci-news/392696

https://www.mwa.co.th/ewt_news.php?nid=66260&filename=index



 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy